ลืมรหัสผ่าน
 ลงทะเบียน: New Member

Sign in with facebook

Connect with friends.

ค้นหา
ดู: 5046|ตอบกลับ: 1

A Chinese Odyssey 2002 เหลียงเฉาเหว่ย เฟย์ หว่อง

[คัดลอกลิงก์]

A Chinese Odyssey 2002 เหลียงเฉาเหว่ย เฟย์ หว่อง

[คัดลอกลิงก์]
eastboy

กระทู้

0

ตอบกลับ

41

เครดิต

480P

  • Credit:
  • Stang:
  • ลงทะเบียน: 2-3-2010
  • ล่าสุด: 1-1-1970
  • ออนไลน์: ชั่วโมง
19-6-2011 20:43:34 | ดูโพสต์ทั้งหมด |โหมดอ่าน
Chinese Oyssey 2002 : หวานมันฉันคือเธอ
โดย นรา

Youtube  ซับไทย ร้านแว่น
http://www.youtube.com/watch?v=S6UvqEgMAaM

ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าหากจะมีคนลงความเห็นว่า Chinese Odyssey 2002 เป็นหนังที่ "เหลวไหลไร้สาระ" เพราะจากอารมณ์ขันหลายช่วงหลายตอน (เช่น การจับเอาตัวละครที่มีฐานะเป็นฮ่องเต้ มาสวมวิกผมหยิกฟูเหมือนแฟชั่นของคนผิวดำในช่วงทศวรรษ 1970 ขณะที่หนังเรื่องนี้เป็นงานย้อนยุคไปไกลกว่านั้นเยอะ) หรือลีลาการแสดงหลาย ๆ ช่วงที่ออกมา "ล้นเกิน" เป็นการ์ตูน

ลักษณะคาบเกี่ยวก้ำกึ่ง "ทีเล่นทีจริง" เช่นนี้ ดูจะเป็นได้ทั้งจุดเด่นเท่าๆ กับเป็นจุดอ่อน แบบเดียวกับที่เคยปรากฎให้เห็นในงานชิ้นก่อนหน้าของเจฟฟรีย์ เหลาเรื่อง A Chinese Odyssey (ไซอิ๋ว"95 เดี๋ยวลิงเดี๋ยวคน) ทั้ง 2 ภาค ซึ่งได้รับคำชื่นชมในแง่ของการพลิกเปลี่ยนอารมณ์จากตลกเลอะเทอะหลุดโลกมาสู่อารมณ์ซาบซึ้งสะเทือนใจได้อย่างราบรื่นแนบเนียน (รวมทั้งประเด็นทางเนื้อหาที่เล่นกับแง่มุมว่าด้วย "ตัวตน" อันแท้จริงของตัวละครหลายๆ รายได้อย่างยอกย้อนพิศดาร)

พูดง่ายๆ ก็คือ งานของเจฟฟรีย์ เหลานั้นสามารถมองกันได้หลายระดับ จะดูแบบหวังเพียงความสนุกสนานเพลิดเพลินไม่ต้องคิดอะไรมากก็ทำได้เต็มที่ หรือจะคาดหวังค้นหาแก่นสารแง่คิดตลอดจนชั้นเชิงทางศิลปะที่ซุกซ่อนอยู่ หนังก็มีสิ่งเหล่านี้ไว้ตอบสนองความต้องการของผู้ชมอย่างครบถ้วน

Chinese Odyssey 2002 (เป็นหนังที่ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวโยงกับไซอิ๋วแต่อย่างไร) ก็ออกมาในท่วงทำนองคล้ายๆ กัน และมีคุณภาพไล่เรี่ยใกล้เคียงกัน

เจฟฟรีย์ เหลากำกับ Chinese Odyssey 2002 โดยมีเพื่อนสนิทหว่องกาไว มารับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้าง ดังนั้นจุดเด่นเบื้องต้นของงานชิ้นนี้จึงอยู่ที่การล้อเลียนหนังของหว่องกาไว (เรื่อง Chungking Express และ Ashes of Time โดยเฉพาะการ "อำ" เรื่องแรกนั้น ถือเป็นทีเด็ดของหนังเลยทีเดียว) นับตั้งแต่การเลือกเหลียงเฉาเหว่ยและเฟย์ หว่อง (หวังเฟย) ซึ่งเคยจับคู่สร้างความประทับใจมาแล้วจาก Chungking Express มารับบทคู่พระคู่นาง ไปจนถึงสไตล์ทางด้านภาพที่มีทั้งการหยุดความเคลื่อนไหว (freeze frame) การตัดภาพโดดโดยไม่คำนึงถึงจังหวะความต่อเนื่อง (jump cut) การใช้เสียงบรรยายของตัวละครทำหน้าที่เล่าเรื่องและบอกกล่าวความในใจ รวมทั้งการหยิบยืมบทพูด "คมคายบาดลึก" (ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้หนังของหว่องกาไว "โดนใจ" ผู้ชมจำนวนมาก) มายั่วล้อ

พ้นจากการล้อเลียนหนังของหว่องกาไวแล้ว Chinese Odyssey 2002 ยังก้าวไปไกลกว่านั้น ด้วยการล้อเลียนในหลายระดับ ตั้งแต่การอำตัวเองโดยให้ตัวละครรายหนึ่งซึ่งแสดงโดยจูอิน (นางเอกเรื่องไซอิ๋ว) เธอมาปรากฏตัวในฐานะบทรับเชิญ เพื่อกล่าวประโยคเด็ดที่เป็นหัวใจสำคัญของเรื่องไซอิ๋ว พร้อมทั้งล้อเลียนการแสดงของโจวซิงฉือในเรื่องนั้น (และยังอาจมองได้ว่า นี่เป็นบทบาทที่หยอกล้อโต้ตอบกัน เพราะในไซอิ๋วเธอเล่นเป็นเทพธิดาที่โดนพรหมลิขิตกำหนดให้เป็นเนื้อคู่กับเห้งเจีย แต่แล้วก็ต้องพลัดพรากไม่สมหวัง ขณะที่ใน Chinese Odyssey เธอเล่นเป็นเทพธิดาซึ่งคอยทำหน้าที่จับคู่ให้มนุษย์รักกัน)

แต่การล้อเลียนที่สำคัญสุดคือ เค้าโครงเรื่องทั้งหมด ซึ่งนำเอาพล็อตคลาสสิกของงานในกลุ่ม "ม่านประเพณี" และ "จอมใจจักรพรรดิ" (ที่มีบทสรุปบั้นปลายเป็นโศกนาฎกรรมเกี่ยวกับความรัก เรื่องแรกมีประเด็นเพศสถานะเป็นอุปสรรค ส่วนเรื่องหลังมีความแตกต่างชนชั้นเป็นเครื่องกีดขวาง) มาปรุงแต่งเสียใหม่ให้เป็นงานในแบบ "สุขนาฎกรรม"

Chinese Odyssey 2002 เล่าเรื่องเกี่ยวกับเจ้าหญิงที่มีฐานะเป็นน้องสาวจักรพรรดิ แอบหลบหนีออกจากวังด้วยการปลอมตัวเป็นชาย จนมาพบและรู้จักกับพี่ชายน้องสาวคู่หนึ่ง กระทั่งเกิดเป็น รักสามเส้า ที่ผิดฝาผิดตัว (เจ้าหญิงรักชายหนุ่ม ขณะที่น้องสาวของฝ่ายชายก็หลงรักเจ้าหญิง ส่วนชายหนุ่มก็เกิดอารมณ์ไหวหวั่นไปกับเจ้าหญิงในรูปลักษณ์ปลอมตัวเป็นชาย และหมกมุ่นครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลาว่าตนเองมีรสนิยมเบี่ยงเบนทางเพศ)

ท้ายสุดเรื่องก็ชุลมุนวุ่นวายยิ่งขึ้น เมื่อฮ่องเต้เดินทางออกมาติดตามน้องสาว และเกิดตกหลุมรักน้องสาวของชายหนุ่ม และทำให้เรื่องราวทั้งหมดไต่เลาะอยู่บนความครื้นเครงสลับกับเศร้าสะเทือนใจ ก่อนจะลงเอยด้วยความสุขสมหวังของทุกฝ่าย (ตรงข้ามกับตอนจบของ "ม่านประเพณี" และ "จอมใจจักรพรรดิ")
เจ้าของ
eastboy เจ้าของ

กระทู้

0

ตอบกลับ

41

เครดิต

480P

  • Credit:
  • Stang:
  • ลงทะเบียน: 2-3-2010
  • ล่าสุด: 1-1-1970
  • ออนไลน์: ชั่วโมง
19-6-2011 20:43:54 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ความน่าสนใจของ Chinese Odyssey 2002 ไม่ได้อย่ที่การผูกเหตุการณ์ ซึ่งเป็นเพียงแค่ตลกโรแมนติคธรรมดาทั่วไป แต่อยู่ที่การเล่าเรื่องแบบ "ทีเล่นทีจริง" จนทำลายขนบหลาย ๆ อย่างที่ผู้ชมคุ้นเคย เริ่มจากการกระโดดข้ามแนวทางไปมา ระหว่างตลกบ้าบอหลุดโลกกับการเน้นความซาบซึ้งประทับใจด้วยน้ำเสียงท่าทีจริงจัง การทำหนังโบราณย้อนยุค แต่ขณะเดียวกันก็มีมุขตลกจำนวนมาก "ข้ามมิติเวลา" เข้ามาเกี่ยวข้องปนเป เช่น มุขตำรวจจราจร อุปกรณ์ตรวจจับไฮ-เทค (ตรงนี้รวมถึงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของตัวละครที่ผ่านการออกแบบให้ผสมผสาน จนไม่บ่งบอกยุคสมัยอันแน่ชัด บางรายก็ดูโน้มเอียงมาทางปัจจุบันเช่น ครูใหญ่ที่ปรากฎตัวขัดขวางการต่อสู้ของพระเอกในตอนต้นเรื่อง สวมชุดเหมือนกรรมการเบสบอล

ถัดมาคือ ในความเป็นเรื่องเล่าที่มีรายละเอียดหลายอย่างโลดโผนหวือหวาโดยผ่านการปรุงแต่ง หนังก็พยายามแทรกรายละเอียดให้ "ดูเหมือนจริง" ในลักษณะคล้ายๆ สารคดี (ซึ่งเจตนาหลักๆ น่าจะตั้งใจให้เป็นมุขตลก) เช่น การใช้เสียงบรรยายสรุปการให้ปากคำของผู้อยู่ในเหตุการณ์ รวมทั้งรายงานสรุปที่ปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษร (ซึ่งหนังกุขึ้นมาเองโดยไม่เป็นความจริงแต่อย่างไร)

เหล่านี้เป็นการพยายามสร้าง "ความจริง" ให้กับเรื่อง "ไม่จริง"

จากรายละเอียดที่เล่นกับการก้าวกระโดดข้ามไปมาระหว่างความเป็นหนังตลกกับหนังรักโรแมนติค การหยอกล้อระหว่างเหตุการณ์ในอดีตย้อนยุคตามท้องเรื่องกับอารมณ์ขันหลาย ๆ ตอนที่เป็นสถานการณ์ปัจจุบัน การดึงผู้ชมให้นึกไปถึงหนังหลายๆ เรื่องในเวลาเดียวกัน ดูเหมือนว่าการสลับข้ามฟากที่เป็นหัวใจสำคัญสุดในงานชิ้นนี้ก็คือ "การสลับเพศ"

ในตอนต้นเรื่อง ทั้งเจ้าหญิงและน้องสาว (ของพระเอก) ต่างก็แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ดูเป็นชาย จนทำให้พระเอกเกิดความเข้าใจผิด และส่งผลให้ความรักของคู่พระคู่นางต้องมีอันติดขัดหยุดชะงักไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

ในช่วงถัดมา เมื่อชายหนุ่มล่วงรู้ความจริงว่า เจ้าหญิงเป็นสตรีที่ปลอมตัวมาในคราบของบุรุษ (ก่อนหน้านั้นพระเอกเพิ่งหลุดคำพูดออกไปว่า "ถ้าท่านเป็นผู้หญิง ข้าก็จะแต่งงานกับท่าน") พระเอกกลับเป็นฝ่ายร่ำไห้เสียใจ เพราะรู่สึกผิดที่ตนเองทรยศต่อความรักของน้องสาว จนเจ้าหญิงต้องแสดงบทบาทของผู้เข้มแข็งกว่า ทำหน้าที่เป็นฝ่ายปลอบประโลม

ในช่วงท้าย เมื่อความรักของชายหนุ่มกับเจ้าหญิงโดนกีดกันขัดขวางจากไทเฮา ชายหนุ่มเสียอกเสียใจถึงกับเมามาย สร้างภาพสมมติขึ้นมาว่าตนเองกำลังพูดคุยอยู่กับเจ้าหญิง

ขณะที่ฝ่ายเจ้าหญิงซึ่งโดนกักตัวอยู่ในวัง (และล้มเหลวจากการพยายามหลบหนีหลายๆ ครั้ง) ความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้เจ้าหญิงสูญเสียความทรงจำ และคิดว่าตนเองเป็นชายหนุ่ม ทั้งยังรู้สึกว่าตนเองมีฐานะต่ำต้อยไม่คู่ควรกับเจ้าหญิง (ก่อนที่เรื่องจะสรุปคลี่คลายเมื่อชายหนุ่มตามตัวเจ้าหญิงจนพบ และเล่นสลับบทบาทเป็นเจ้าหญิง เพื่อทวงถามสัญญารักที่เคยให้ไว้ต่อกัน)

ขณะที่คู่ของเจ้าหญิงกับชายหนุ่ม สะท้อนถึงนัยเกี่ยวกับการทลายกำแพงทางด้านเพศสถานะ คู่ของจักรพรรดิกับน้องสาวพระเอก ก็มีรายละเอียดหลายๆ ตอน (ซึ่งโดยข้อจำกัดทางด้านเนื้อที่ทำให้จำเป็นต้องละเว้นไม่กล่าวถึง) ที่สะท้อนให้เห็นถึงการขจัดความแตกต่างทางด้านชนชั้น

บทสรุปท้ายสุดของหนัง อยู่ที่ประโยคคำพูดทิ้งท้ายของพระเอกซึ่งกล่าวว่า "การขจัดความทุกข์ในใจนั้นทำได้ง่าย ถ้าหากว่าเราเพียงแต่เปลี่ยนมุมมอง พิจารณาเหตุการณ์จากซีกมุมต่างๆ อย่างหลากหลายรอบด้าน เพื่อจะได้เข้าใจตระหนักในทุกข์สุขของผู้อื่น ถึงตรงนั้นใครจะเป็นสนใจอีกต่อไปว่า ฝ่ายใดเป็นหญิง ฝ่ายใดเป็นชาย"

อาจมีคนมองว่า Chinese Odyssey 2002 เป็นเพียงหนังเหลวไหลไร้สาระ แต่ถ้าลองเปลี่ยนมาพิจารณาจากแง่มุมอื่นๆ ที่อยู่รอบๆ บางทีข้อสรุปทางด้านคุณภาพของหนังเรื่องนี้อาจจะออกมาตรงกันข้ามกับคำว่า "ไร้สาระ" โดยสิ้นเชิง
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้าสู่ระบบ | ลงทะเบียน: New Member Sign in with facebook

รายละเอียดเครดิต

เว็บไซต์นี้ มีการใช้คุกกี้ 🍪 เพื่อการบริหารเว็บไซต์ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของท่าน (เรียนรู้เพิ่มเติม)

รูปแบบข้อความล้วน|รายชื่อผู้กระทำผิด|1080iP |

GMT+7, 18-4-2024 18:59 , Processed in 0.098106 second(s), 19 queries .

Powered by Discuz! X3.5, Rev.7

© 2001-2024 Discuz! Team.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้